เรียนรู้การเงิน

โอกาสและความท้าทาย ธุรกิจ Medical Foods ในสังคมสูงวัย

อัพเดทวันที่ 12 มี.ค. 2567

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-Aged Society) โดยมีสัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ส่งผลให้ความต้องการผลิตภัณฑ์และบริการสำหรับประชากรกลุ่มนี้มากขึ้นตามไปด้วย โดยหนึ่งในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจและมีแนวโน้มเติบโตสูงรับกระแสดังกล่าว คือ อาหารทางการแพทย์ (Medical Foods) ซึ่งเป็นอาหารที่ผลิตขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์พิเศษทางการแพทย์ เพื่อตอบสนองความต้องการทางโภชนาการที่เฉพาะเจาะจงสำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วย

สำหรับไทย Krungthai COMPASS คาดว่า มูลค่าตลาด Medical Foods จะเติบโตราว 6.2%CAGR เป็น 9.5 พันล้านบาท ในปี 2573 จากปัจจุบันที่ราว 5.9 พันล้านบาท โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุและผู้ป่วย ซึ่งไทยมีแนวโน้มเข้าสู่ Super-Aged Society ในปี 2572 โดยคาดว่าจะมีจำนวนประชากรผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปอยู่ที่ 14.8 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 20.6% ของจำนวนประชากรทั้งหมด กอปรกับเทคโนโลยีด้านอาหารและสุขภาพที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ทำให้การพัฒนาอาหารทางการแพทย์สามารถตอบโจทย์ความต้องการทางโภชนาการของแต่ละบุคคลมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยเริ่มมีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อต่อยอดสู่อาหารทางการแพทย์ สะท้อนจากตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ของกิจการผลิตอาหารทางการแพทย์ในช่วงปี 2563-2565 มีจำนวน 8 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 785 ล้านบาท

Krungthai COMPASS มองว่า Medical Foods เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการในการยกระดับไปสู่ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีมูลค่าเพิ่ม ทำให้มีอัตรากำไรที่ดีกว่าอาหารทั่วไป โดยคาดว่า ผู้ประกอบการผลิต Medical Foods จะมีอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นจาก 23% เป็น 42% เมื่อเทียบกับการผลิตอาหารทั่วไป ถึงแม้ว่าต้นทุนรวมของการผลิต Medical Foods จะสูงกว่าการผลิตอาหารทั่วไป แต่ราคาขาย Medical Foods ก็สูงกว่าการผลิตอาหารทั่วไปเช่นกัน นอกจากนี้ หากต่อยอดสู่ Organic/Plant-based Medical Foods จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรของไทยราว 12-22 เท่า และคาดว่าจะทำให้ผู้ผลิตมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงถึง 55%



อย่างไรก็ดี การผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยผลิตอาหารทางการแพทย์ยังมีความท้าทายหลัก 3 ประการ ได้แก่
1. การพึ่งพาการนำเข้าส่วนผสมอาหารทางการแพทย์จากต่างประเทศ เนื่องจากไทยยังขาดห่วงโซ่ในการแปลงสภาพวัตถุดิบให้เป็นส่วนผสมอาหารทางการแพทย์ระดับ Food Grade ที่มีคุณภาพสูงและได้มาตรฐาน
2. ต้นทุน R&D และเทคโนโลยีการผลิตอาหารทางการแพทย์อยู่ในระดับสูง ขณะที่ผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่กว่า 98% เป็น SMEs ซึ่งอาจมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
3. ขาดมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะมาตรการสนับสนุนเงินทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาอาหารทางการแพทย์

ตาราง มูลค่าเพิ่มโดยเปรียบเทียบ และอัตรากำไรขั้นต้นของ Medicals Foods

ที่มา : คำนวณโดย Krungthai COMPASS


Krungthai COMPASS แนะนำปัจจัยแห่งความสำเร็จสำหรับกิจการผลิตอาหารทางการแพทย์ของไทยที่สำคัญ คือ การสร้างความร่วมมือกันทั้ง Ecosystem ในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs โดยภาครัฐควรลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการทดสอบทางคลินิก ควบคู่ไปกับการส่งเสริมองค์ความรู้และสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา เช่น มาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาในอัตราพิเศษ สำหรับ SMEs เป็นต้น ขณะที่ผู้ประกอบการควรสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรหลักอย่างโรงพยาบาล สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัยและพัฒนา เพื่อยกระดับศักยภาพและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการมากขึ้น

#เคล็ดลับธุรกิจ #KrungthaiCompass #MedicalFoods #SuperAgedSociety #กรุงไทยSME #ติดปีกให้ธุรกิจคุณ

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่นี่ 

บทวิเคราะห์อื่นๆ จาก Krungthai Compass