เรื่องเด่น

เรื่องต้องรู้ก่อนจับเทรนด์ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพและธุรกิจความงามเพื่อการชะลอวัย

อัพเดทวันที่ 8 พ.ค. 2567

เรื่องต้องรู้ก่อนจับเทรนด์ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพและธุรกิจความงามเพื่อการชะลอวัย

ในยุคที่ผู้คนให้ความสำคัญกับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดังเช่นคนใน Generation Baby Boomer เริ่มมองหาปัจจัยต่าง ๆ ที่ช่วยเสริมสุขภาพให้แข็งแรงและป้องกันการเจ็บป่วย รวมทั้งยืดระยะเวลาของความชราภาพ ส่วนคนใน Generation X ให้ความสนใจกับการรักษาสุขภาพกายและใจให้แข็งแรงเพื่ออนาคตระยะยาว สำหรับคนใน Generation Millennial ยึดหลักการ Work Life Balance ด้วยการให้ความสำคัญกับสุขภาพร่างกาย สุขภาวะทางจิตใจ และการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย แนวโน้มในด้านสุขภาวะของ Generations เหล่านี้ เป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้ธุรกิจสายสุขภาพเกิดขึ้นและขยายตัวอย่างมาก และในปี 2023 ธุรกิจสายนี้จะยังคงเติบโตได้อีก จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการรายใหม่ที่สนใจทำธุรกิจสายสุขภาพ อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่วงการธุรกิจสายสุขภาพต้องมีความเข้าใจเป็นอย่างดีต่อกฎหมายที่ควบคุมมาตรฐานผลิตภัณฑ์และบริการที่มีผลต่อสุขภาพของประชาชนและผู้บริโภค ซึ่งธุรกิจสายสุขภาพมีหลายรูปแบบและหลายลักษณะ เช่น ธุรกิจฟิตเนส ธุรกิจ Well-being ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ธุรกิจ Mind Tracking ธุรกิจ Mental Health Counseling เป็นต้น โดยบทความนี้ ขอแนะนำในเบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพและธุรกิจความงามเพื่อการชะลอวัย




ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ

สำหรับธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพในที่นี้ขอจำกัดไว้เฉพาะการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเท่านั้น ซึ่งตามกฎหมาย[1] จะถือว่าผลิตภัณฑ์นั้นเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือไม่ จะพิจารณาว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้รับประทานนอกเหนือจากการรับประทานอาหารตามปกติ ซึ่งมีสารอาหารหรือสารอื่นเป็นองค์ประกอบ เช่น วิตามิน กรดอะมิโน กรดไขมัน แร่ธาตุ สารเข้มข้น สารเมตาโบไลท์ สารสกัดจากพืช เป็นต้น ซึ่งอยู่ในรูปเมล็ด แคปซูล ผง เกล็ด ของเหลว หรือลักษณะอื่น โดยผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจัดเป็นอาหารที่กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522[2] ในการผลิตหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจะต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา รวมทั้งยื่นขอจดทะเบียนผลิตภัณฑ์หรือแจ้งรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ เพื่อตรวจสอบสูตรส่วนประกอบและควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยของวัตถุดิบที่ใช้ นอกจากนี้ ต้องขออนุญาตใช้หรือแสดงฉลากอาหารด้วย และเมื่อผู้ประกอบการได้รับเลขสารบบอาหารแล้วจึงจะนำผลิตภัณฑ์เสริมอาหารออกจำหน่ายได้ ทั้งนี้ ในการจำหน่ายต้องขออนุญาตโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นด้วย เพื่อควบคุมมิให้มีการหลอกลวงหรือโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง[3] ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้ประกอบการใช้วัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากผลผลิตทางการเกษตรที่ผู้ประกอบการนั้นเป็นผู้ผลิตเอง และหากผู้ประกอบการประสงค์จะแสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผลิตมาจากสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ และมีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล ผู้ประกอบการจะต้องขอรับการตรวจสอบและขอใบรับรองตามมาตรฐานทั่วไปหรือตามมาตรฐานบังคับ (แล้วแต่กรณี) ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 และหากประสงค์ให้มีการรับรองระบบงานของกิจการของผู้ประกอบการที่เป็นหน่วยรับรองความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหาร หน่วยรับรองผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ และหน่วยรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี ผู้ประกอบการก็ต้องยื่นคำขอให้มีการตรวจสอบและรับรองคุณภาพของระบบงานดังกล่าวตามพระราชบัญญัติการมาตรฐานแห่งชาติ พ.ศ. 2551 อีกด้วย นอกจากนี้ หากผู้ประกอบการมีการปลูกพืชหรือนำเข้าพันธุ์พืชที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผู้ประกอบการอาจต้องศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องอีก 2 ฉบับ ซึ่งได้แก่ พระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 อีกทั้งหากส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีส่วนประกอบของพืชสมุนไพรด้วย ผู้ประกอบการอาจต้องศึกษาการขออนุญาตผลิต นำเข้า หรือขายสมุนไพร ตามพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 เพิ่มเติมเช่นกัน



ธุรกิจความงามเพื่อการชะลอวัย

ในกรณีที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจความงามในลักษณะเป็นคลินิกเสริมความงามที่มีการฉีดโบทอกซ์ (Botox) หรือฟิลเลอร์ (Filler) ผู้ประกอบการจะต้องขออนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาลประเภทคลินิกเสริมความงามตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 เมื่อได้รับอนุญาตแล้วต้องดำเนินกิจการตามมาตรฐานคลินิกเวชกรรมทั้งด้านสถานที่ เครื่องมือ ยา เวชภัณฑ์ การให้บริการ โดยต้องมีผู้ดำเนินการสถานพยาบาลเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม นอกจากนี้ ก่อนทำการโฆษณาประชาสัมพันธ์ธุรกิจ จะต้องได้รับอนุญาตให้มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ธุรกิจคลินิกเสริมความงานนั้นด้วย[4]

ในกรณีที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจนำเข้าหรือผลิตผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวถือเป็นเครื่องสำอางตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 จึงต้องทำการจดแจ้งรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยกระทรวงสาธารณสุขมีการกำหนดรายชื่อวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอาง[5] รวมทั้งกำหนดรายชื่อลักษณะเครื่องสำอางที่ห้ามผลิต นำเข้า และขายด้วย[6] อย่างไรก็ตาม หากได้รับการจดแจ้งแล้วจึงสามารถนำเข้าหรือผลิตผลิตภัณฑ์บำรุงผิวได้ โดยในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องขออนุญาตก่อน แต่ต้องระมัดระวังไม่ให้การโฆษณาประชาสัมพันธ์ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญของผลิตภัณฑ์ เป็นเท็จ เกินความจริง หรือสื่อความหมายสรรพคุณว่าเป็นการรักษาโรค

ทั้งนี้ หากผลิตภัณฑ์บำรุงผิวมีส่วนผสมของพืชสมุนไพร ผู้ประกอบการอาจต้องศึกษาการขออนุญาตผลิต นำเข้า หรือขายสมุนไพร ตามพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 เพิ่มเติม นอกจากนี้ หากผลิตภัณฑ์บำรุงผิวมีส่วนประกอบของพันธุ์พืชในบัญชีไซเตส[7] ซึ่งถือเป็นพืชอนุรักษ์ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 จะต้องมีหลักฐานการได้รับอนุญาตจากกรมวิชาการเกษตรมาแสดงในการจดแจ้งรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาด้วย จะเห็นได้ว่าการทำธุรกิจสายสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพและธุรกิจความงามเพื่อการชะลอวัย มีกฎหมายหลายฉบับที่ควบคุมและกำกับมาตรฐานของผลิตภัณฑ์หรือการให้บริการ ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นเนื่องจากเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัยและสุขภาวะของผู้บริโภคและประชาชน ผู้ประกอบการจึงควรรู้และเข้าใจกฎหมายเหล่านี้อย่างเพียงพอก่อนที่จะเข้าสู่วงการของธุรกิจดังกล่าวต่อไป

[1] ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 293) พ.ศ. 2548 เรื่อง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
[2] มีการออกประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ที่เป็นกฎหมายระดับ ruling อีกหลายฉบับที่ต้องศึกษาในรายละเอียดประกอบด้วย เช่น ประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของส่วนของกัญชาหรือกัญชง และประกาศกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยผลิตภัณฑ์อาหารที่มีสารสกัดแคนนาบิไดออลเป็นส่วนประกอบ เป็นต้น
[3] การโฆษณาสินค้าต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ด้วย
[4] หลักเกณฑ์ที่ออกตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ที่ต้องศึกษาเพิ่มเติม เช่น
- กฎกระทรวงกำหนดลักษณะของสถานพยาบาลและลักษณะการให้บริการสถานพยาบาล พ.ศ. 2558
- กฎกระทรวงกำหนดชนิดและจำนวนเครื่องมือ เครื่องใช้ ยา และเวชภัณฑ์ หรือยานพาหนะที่จำเป็นประจำสถานพยาบาล พ.ศ. 2558
- กฎกระทรวงกำหนดวิชาชีพและจำนวนผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาล พ.ศ. 2558
- ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การรักษาจรรยาบรรณการให้บริการของสถานพยาบาล
- ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรฐานการให้บริการของคลินิกเสริมความงาม
[5] โปรดดู ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วย ชื่อวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง
[6] โปรดดู ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วย กำหนดลักษณะของเครื่องสําอางที่ห้ามผลิต นําเข้า หรือขาย
[7] ไซเตส เป็นคำย่อของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งอนุสัญญาดังกล่าวกำหนดรายชื่อชนิดสัตว์และพืชที่ต้องการควบคุมการค้า โดยพืชในบัญชีไซเตสถือเป็นพืชอนุรักษ์ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518

#เคล็ดลับธุรกิจ #กรุงไทย #Krungthai #ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ #ธุรกิจความงามเพื่อการชะลอวัย #KrungthaiSME #กรุงไทยSME #พลิกธุรกิจสู่โลกดิจิทัล