เรียนรู้การเงิน

ทำธุรกิจรักษ์โลกอย่างไรไม่ให้ถูกมองว่า “ฟอกเขียว”

อัพเดทวันที่ 10 พ.ค. 2567

ทำธุรกิจรักษ์โลกอย่างไรไม่ให้ถูกมองว่า “ฟอกเขียว”

ปัจจุบันผู้บริโภคทั่วโลกต่างก็ให้ความสำคัญในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และมองหาสินค้าจากแบรนด์ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ทำให้ปัจจัยด้านความยั่งยืนเข้ามามีบทบาทในวงการธุรกิจมากยิ่งขึ้น แต่ใช่ว่าทุกองค์กรจะปรับเปลี่ยนกันจริง ๆ มีบางส่วนกลับหันมาพึ่งพาการตลาดที่เน้นสร้างภาพลักษณ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแทน ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ได้เป็นอย่างนั้น หรือที่เรียกกันว่า “การฟอกเขียว” (Greenwashing) นั่นเอง


รูปแบบของการฟอกเขียวเป็นอย่างไร

กลุ่มคนที่ใช้คำว่าฟอกเขียวมักจะเป็นองค์กรอนุรักษ์ นักกิจกรรม หรือผู้บริโภคที่ตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งถึงแม้จะไม่ได้เป็นคนกลุ่มใหญ่ แต่การที่แบรนด์ใดถูกตีตราว่า “ฟอกเขียว” จาก Influencer กลุ่มนี้ ก็อาจเกิดความเสียหายเป็นวงกว้างได้ โดยสรุปแล้วการกระทำของธุรกิจที่อาจถูกมองฟอกเขียว ได้แก่

  1. ใช้คำโฆษณาหรือออกแบบสินค้าเพื่อให้ดูดี เช่น คำว่า “เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รักษ์โลก ยั่งยืน” หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์โดยใช้วัสดุธรรมชาติมาปกปิด หรือผลิตภัณฑ์บางชนิดก็ปิด “สีเขียว” ตรง ๆ ไปเลยก็มี
  2. ทำสิ่งหนึ่งเพื่อชดเชยอีกสิ่งหนึ่ง เช่น บริษัทที่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือมลพิษมหาศาล แต่กลับใช้การปลูกป่าชดเชยคาร์บอน แทนที่จะใช้วิธีลดอัตราการปล่อยมลพิษลงจริง ๆ
  3. บิดเบือนความจริง เช่น ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่อ้างว่าขวดสามารถรีไซเคิลได้ 100% แต่ความจริงแล้วขวดที่ได้รีไซเคิล อาจจะไม่ถึง 30% หรือบริษัท Fashion ที่ทำแคมเปญเรื่องความยั่งยืน ทั้ง ๆ ที่แบรนด์เองใช้แรงงานทาสและจ่ายค่าแรงที่ไม่เป็นธรรม เป็นต้น



วิธีหลีกเลี่ยงไม่ให้ตกเป็นเป้า “การฟอกเขียว”

ในฐานะ Influencer ด้านสิ่งแวดล้อมคนหนึ่ง ลุงจะบอกว่า ไม่ว่าธุรกิจอะไร ล้วนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ทั้งนั้น ดังนั้น สิ่งแรกที่ทุกคนควรจะต้องทำให้ได้ คือ “การยอมรับ” ว่าธุรกิจของเรานั้นทำอะไรเอาไว้บ้าง เช่นเดียวกับคนทำผิด ที่ก่อนจะได้รับการให้อภัยหรือจะแก้ไขข้อผิดพลาด ก็ต้องยอมรับให้ได้เสียก่อนว่าเราผิดที่ตรงไหน

ยกตัวอย่างเช่นหากคุณทำแบรนด์เสื้อผ้า แน่นอนว่า ขยะเสื้อผ้านั้นมหาศาล หรือการปลูกฝ้ายใช้น้ำจำนวนมากจริง ๆ คุณอาจเปลี่ยนไปใช้ผ้าคุณภาพดี เพื่อยืดอายุการใช้งานให้อยู่ได้นาน หรือเลือกวัสดุที่มาจากการรีไซเคิล หรือใช้วัตถุดิบที่ยั่งยืนกว่า เป็นต้น

รวมถึงพยายามหลีกเลี่ยงคำที่มีความหมายกว้าง ๆ เช่น “เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” หรือ “รักษ์โลก” แต่ให้บอกชัด ๆ ไปเลยว่าคุณทำอะไรลงไปบ้าง เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ระบุไปเลยว่าคุณได้ใช้ ผ้าฝ้ายออร์แกนิก 70% แทนที่จะเป็น ทำจากผ้าฝ้ายออร์แกนิกเฉย ๆ หรือขอการรับรองที่ตรวจสอบได้ด้วยก็จะยิ่งดี เช่น มาตรฐานการจัดการป่า FSC

หรือแม้แต่การนำหลักการ Extended Producer Responsibility (EPR) การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต มาปรับใช้กับสินค้าของเรา ตั้งแต่การออกแบบ การกระจายสินค้า​ การรับคืน การเก็บกลับ และการจัดการ

ซึ่งทั้งหมดนี้ ต้องเริ่มจากความจริงใจที่จะเขียวไปถึงภายใน ไม่ใช่เพียงการอาบสีเขียวแต่ภายนอกเพื่อภาพลักษณ์ที่ดูดีเท่านั้น ลุงเชื่อว่าผู้บริโภคยุคใหม่แยกออกว่าใครคือ ของจริง และพร้อมจะสนับสนุน เพราะไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตหรือผู้บริโภค เราต่างก็อยู่บนโลกใบเดียวกัน และคงไม่มีใครสนับสนุนคนที่ทำลายบ้านของพวกเรา

ที่มา: กรุงไทย SME FOCUS Issue 41 | คอลัมน์ SME Go Green โดย Page ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป

#เคล็ดลับธุรกิจ #กรุงไทย #Krungthai #ฟอกเขียว #GreenWashing #KrungthaiSME #กรุงไทยSME #พลิกธุรกิจสู่โลกดิจิทัล